Blog ว่าด้วยเรื่องการทุจริตในองค์กร การบริหารความเสี่ยง และเรื่องอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

เป็นคนดีมันลำบากนะ หนูไหวเหรอ …


7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันแรกที่ นางสาวปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น

ในระหว่างการฝึกงานเธอได้รับมอบหมายให้ไปกรอกเอกสารที่ “บ้าน” ของ ผอ.ศูนย์คุ้มครองฯ โดยเอกสารดังกล่าวเป็นประวัติและรายชื่อของประชาชนที่จะขอเบิกเงินสงเคราะห์มูลค่ารวมกว่า 6.9 ล้านบาท

คุณปณิดาพบความผิดปกติขณะกรอกเอกสารเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ที่มีปริมาณมากผิดปกติ รวมทั้งการที่ ผอ. ศูนย์คุ้มครองฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้สั่งให้เธอและเพื่อนนักศึกษาฝึกงาน เตรียมเอกสารในลักษณะต่าง ๆ ที่ส่อไปในทางทุจริต

คุณปณิดา จึงรวบรวมข้อมูลก่อนนำไปแจ้งให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยทราบ แต่สิ่งที่อาจารย์ทำกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคิด เธอจึงตัดสินใจร้องเรียนต่อไปยังเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เรื่องถูกส่งต่อไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตามลำดับ

อันที่จริงในเรื่องนี้ เรายังมีวีรสตรีอีกท่านหนึ่งคือ นางสาวณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตเจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองฯ ซึ่งถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยเชื่อว่าสาเหตุของการเลิกจ้างก็เนื่องมาจากเธอฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่ร่วมปลอมแปลงเอกสารนั่นเอง

คุณณัฐกานต์ และ คุณปณิดา (ภาพ: ช่อง One 31)

ต่อมาทั้งสองท่านก็ได้เข้าร่วมเป็นพยาน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทางการเพื่อจัดการขบวนการดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมความผิดปกติ ของการใช้จ่ายงบประมาณใน 56 จังหวัด มูลค่าราว 109,299,000 บาท

และเรื่องราวที่เหลือ ก็กลายเป็นบันทึกหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการทุจริตและคอร์รัปชั่นของประเทศไทย


ทุก ๆ 2 ปี สมาคมผู้ตรวจสอบทุจริต (ACFE หรือ Association of Certified Fraud Examiners) จะทำการสำรวจองค์กรที่ตกเป็นเหยื่อของการทุจริตจากทั่วโลก และเผยแพร่ในชื่อ “Report to the nations”

หน้าปก Report to the nations 2018 โดย ACFE

ผลการสำรวจล่าสุดที่ออกเผยแพร่ช่วงกลางปี 2018 มีคำถามหนึ่งในการสำรวจคือ องค์กรที่เป็นเหยื่อของการทุจริตส่วนใหญ่รับรู้ หรือ ตรวจสอบพบการทุจริตได้อย่างไร

ท่านผู้อ่านคิดว่าจากที่ไหนครับ ?

จากกิจกรรมการตรวจสอบภายใน ?
จากการตรวจสอบจากภายนอก ?
หรือ จากการสอบทานของผู้บริหาร ?

ผลสำรวจ 2,690 องค์กรที่เป็นเหยื่อ พบว่าที่มาของการพบการทุจริต 3 อันดับแรกเป็นดังนี้

อันดับที่ 1 (40%) จากเบาะแส (Tips)
อันดับที่ 2 (15%) การตรวจสอบภายใน (Internal audit)
อันดับที่ 3 (13%) จากการสอบทานโดยผู้บริหาร (Management review)

ที่มาของการตรวจพบการทุจริต 3 อันดับแรก โดย ACFE

สังเกตว่าอันดับที่ 2 และ 3 ห่างจากอันดับ 1 พอสมควร ส่วนการตรวจสอบภายนอก (External audit) เช่น การสอบบัญชีโดยผู้ตรวจสอบบัญชี นั้นะบเหตุทุจริตเพียง 4% เท่านั้นเอง

คำถามต่อมาคือใครเป็น “ผู้แจ้งเบาะแส” อันดับหนึ่ง

อันนี้คงไม่ยาก ถ้าจะเดาว่าเป็นพนักงาน เหมือนกรณีของคุณปณิดาที่เป็นพนักงานฝึกงาน หรือคุณณัฐกานต์ที่เป็นลูกจ้างของศูนย์คุ้มครองฯ

ก็ใครจะรู้ดีเท่ากับคนที่นั่งทำงานอยู่ข้างในหล่ะครับ

53% ของผู้แจ้งเบาะแส คือพนักงานครับ และถ้าเราไปย้อนดูผลสำรวจในปีก่อน ๆ ก็ออกมาในทำนองเดียวกันครับ

นั่นคือพนักงานเป็นแหล่งข่าวชั้นดี การค้นพบการทุจริตในองค์กร มาโดยตลอด


เรื่องต่อมาที่คนในสังคมควรทราบ ซึ่งในการสำรวจของ ACFE ไม่ได้กล่าวไว้ก็คือ พนักงานเหล่านี้ หลังจากได้ค้นพบการทุจริตและทำการแจ้งเบาะแส พวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง

ในกรณีของคุณณัฐกานต์ ลูกจ้างของศูนย์คุ้มครองฯ เพียงแค่เธอต่อต้านไม่ทำตามสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เธอก็ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

ส่วนคุณปณิดา ที่เป็นนักศึกษาฝึกงานนั้น ถ้าท่านผู้อ่านได้ยินได้ฟังข่าวมาบ้าง คงพอทราบมาบ้างว่า ก่อนที่เรื่องนี้จะได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ และสาธารณชน คุณปณิดาโดนอาจารย์ตำหนิว่ากล่าวหาเจ้าหน้าที่และถูกสั่งให้ “กราบเท้า” ขอขมาเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ

ภาพ: ไทยรัฐ

แม้กระทั่งเรื่องถึง ป.ป.ช. แล้ว เธอกล่าวว่าเธอยังถูกอาจารย์หัวหน้าภาควิชาฯ ตำหนิว่า “ทำไมทำต้องทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น” “ถ้าจะร้องเรียนทำไมไม่ให้เรียนจบก่อน ทำแบบนี้ทำไม” และ “หน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบทำอะไรไม่ได้หรอก” แถมยังใช้มือทุบหลังเธออีก 2 ครั้ง คล้าย ๆ กับต้องการระบายอารมณ์

(เพื่อความเป็นธรรม มีข่าวนึงอาจารย์แกบอกว่าแค่หมั่นเขี้ยวหน่ะครับ)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของชะตากรรมที่ “ผู้แจ้งเบาะแส” การทุจริตมักจะต้องพบเจอ โชคดีที่ทั้งคู่ไม่ได้เจออะไรมากไปกว่านั้น


ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างครับ

ในปี 2014 คุณ Mary Willingham เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย North Carolina ณ เมือง Chapel Hill หรือ UNC ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เกี่ยวกับการค้นพบของเธอว่า นักศึกษาในโควต้านักกีฬาส่วนใหญ่ของ UNC นั้น ได้รับการช่วยเหลืออย่างลับ ๆ จากเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถผ่านเกณฑ์ทางการศึกษา และยังคงสถานะเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยได้

Mary Willingham (ภาพ: carolinaconnection.org)

วิธีการช่วยเหลืออย่างลับ ๆ ที่ว่า ก็มีตั้งแต่การจัดชั้นเรียนปลอม ๆ ให้เพื่อให้มีจำนวนชั่วโมงเรียนครบ ไปจนถึงการทำรายงานเตรียมไว้ให้นักศึกษา Download ไปส่งอาจารย์ ซึ่งก่อนที่ Mary จะคุยกับนักข่าวนั้น เธอพยายามร้องเรียนเป็นการภายใน แต่ก็ไม่ได้มีการตอบสนองใด ๆ จากผู้บริหาร

พอเรื่องถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ เธอถูกลดตำแหน่ง และถูกขู่เอาชีวิต

หรือย้อนในปี 2008 คุณ Jessie Guitron พนักงานของธนาคาร Wells Fargo ในสหรัฐอเมริกา ได้ร้องเรียนเหตุทุจริตจากการที่พนักงานจำนวนมาก ทำการเปิดบัญชีบัตรเครดิตของลูกค้าโดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อให้ได้ยอดบัญชีใหม่ตามเป้า

Jessie Guitron (ภาพ: CBS News)

เธอถูกไล่ออกในปี 2010 และกว่าที่เรื่องฉาวโฉ่นี้จะเป็นที่รู้กันทั่วไปก็ต้องรอถึงปี 2016


มี TEDx คลิปหนึ่งที่ชื่อว่า “How whistle-blowers shape history” ของอาจารย์ Kelly Richmond Pope ซึ่งพูดเกี่ยวกับเรื่องผู้แจ้งเบาะแสไว้ได้น่าสนใจ

Kelly Richmond Pope (ภาพ: Ted.com)

อาจารย์ Kelly ได้สัมภาษณ์ผู้แจ้งเบาะแสจากคดีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา (รวมทั้งสองกรณีตัวอย่างข้างต้นด้วย) และพบความจริงอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเหล่านี้ต้องประสบมาเหมือน ๆ กันคือ …

ช่วงแรก ผู้แจ้งเบาะแสเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ นานา ที่เบาหน่อยก็แค่โดนค่อนขอดจากคนรอบข้างด้วยคำพูดถากถาง เช่น “หนอนบ่อนไส้” “ขี้ฟ้อง” “ปากไม่มีหูรูด” ฯลฯ หนักหน่อยก็โดนไล่ออก หรือไปถึงขั้นขู่ฆ่า

แต่พอถามว่าที่ทำไปทั้งหมดนี้ เพื่ออะไร? คำตอบที่ได้รับก็แทบจะเหมือนกันหมด …

“จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากดังหรอกนะ แค่อยากให้เกิดความยุติธรรม”

“ถึงจะโดนไล่ออกนะ แต่รู้มั๊ยว่าฉันก็จะทำแบบเดิมอีก ถ้ามีโอกาส”

“มันก็แค่เป็นสิ่งที่ควรทำ”

สำหรับคนเก่งของเรา คุณปณิดา ยศปัญญา ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Standard เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2561 ไว้ว่า

“… ตอนที่ตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องร้องเรียนแน่ๆ ตอนนั้นคือคิดถึงอนาคตของตัวเราเองด้วย แล้วก็คิดถึงประชาชน 2,000 คนที่เรากรอกเอกสารเป็นลายมือเรา ปลอมเรื่องเท็จให้เขา ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักบ้านเขา ไม่รู้รายได้ที่เขามี เหมือนเรารู้สึกผิดที่เราต้องมาทำอะไรแบบนี้ แล้วมันขัดกับสิ่งที่เราเรียนมา… ”

และ

“… มันคุ้มค่ามากค่ะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะทำแบบนี้อีก”

ปณิดา ยศปัญญา (ภาพ: โพสต์ทูเดย์)

ปรบมือสิครับ รออะไรอยู่ …


อ้างอิง

ข่าวและบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกรณีเงินสงเคราะห์ฯ

1. The Stadard 
https://thestandard.co/bam-internship-and-government-corruption/
2. ผู้จัดการ 
https://mgronline.com/live/detail/9610000019261
3. คมชัดลึก
 http://www.komchadluek.net/news/crime/313150
4. วอยซ์ทีวี
https://voicetv.co.th/read/ByjVOLjoM
5. ไทยฮอตนิวส์
https://www.thai-hotnews.com/news/115516

Report to the nations 2018 โดย ACFE
https://www.acfe.com/report-to-the-nations/2018/

กรณีของ Wells Fargo
https://www.cbsnews.com/news/whistleblower-wells-fargo-fraud-could-have-been-stopped/

กรณีของ University of North Carolina at Chapel Hill
https://www.newsobserver.com/sports/college/acc/unc/article146964879.html

TEDx talk โดย Kelly Richmond Pope เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้แจ้งเบาะแส


ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th
Email: author[at]antifraud.in.th