ในปี 2009 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ได้ริเริ่มภารกิจในการเฝ้าสังเกตธาตุคาร์บอนจากระดับวงโคจร (Orbiting Carbon Observatory mission หรือ OCO)
ภาพวาดดาวเทียมของโครงการโดยศิลปิน (ภาพ: NASA/JPL)
วัตถุประสงค์หลักของภารกิจนี้คือ การเฝ้าสังเกตระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศ และรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในวัฏจักรของธาตุคาร์บอน อันจะนำไปสู่การทำความเข้าใจในกระบวนการตามธรรมชาติ และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีผลกับก๊าซเรือนกระจก
็ถือว่าเป็นภารกิจเพื่อกอบกู้โลกในชีวิตจริงนะครับ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 จรวดชื่อ Taurus XL ถูกส่งขึ้นจากฐานทัพอากาศ Vandenberg ในรัฐ California เพื่อนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร
ตามแผนการบิน โครงสร้างกระสวยตรงส่วนหัวของจรวด (ที่เรียกว่า Payload Faring) ซึ่งบรรจุดาวเทียมอยู่ จะแยกตัวออกจากจรวดที่ระดับความสูงราว ๆ 60 ไมล์ และดาวเทียมก็จะหลุดออกจากกระสวยที่ความสูงราว ๆ 70 ไมล์ ก่อนจะเดินทางเข้าสู่วงโคจร
จรวด Taurus XL (ภาพ: NASA)
แต่เกิดความผิดพลาดขึ้น เนื่องจาก Payload fairing ไม่ได้ถูกสลัดออกจากดาวเทียมตามแผน ทำให้กระสวยทั้งหมดพร้อมกับดาวเทียมตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ใกล้กับแอนตาร์กติกา
ภารกิจล้มเหลว โดยมีความเสียหายเบื้องต้นที่ 209 ล้านเหรียญสหรัฐ
วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2011 เกิดความผิดพลาดในทำนองเดียวกัน กับภารกิจ Glory ในขณะที่กำลังนำดาวเทียมที่ใช้ศึกษาสภาพภูมิอากาศของโลกขึ้นสู่วงโคจร
ครั้งนี้ความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ 388 ล้านเหรียญสหรัฐ
NASA ตั้งทีมงานสอบสวนเหตุการณ์ทั้งสองขึ้น และประเมินความเสียหายได้ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนี่ยังไม่รวมมูลค่าของความพยายามที่สูญเปล่าของทีมงานอีกหลายร้อยชีวิต
ผลจากการสอบสวนพบว่าสาเหตุของความล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง เกิดจากชิ้นส่วนอลูมิเนียมที่ถูกอัดขึ้นรูป และใช้เป็นส่วนประกอบของ Payload fairing ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
วัตถุดิบสำคัญของอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ใช้ในทั้ง 2 ภารกิจ คืออลูมิเนียมที่มาจากผู้ผลิตรายเดียวกันที่ชื่อว่า บริษัท Sapa Profiles, Inc. หรือ SPI
SPI ก่อตั้งขึ้นในรัฐ Oregon มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 และทำธุรกิจผลิตโครงเหล็กอลูมิเนียม โดยมีลูกค้าหลายร้อยบริษัท รวมทั้งหน่วยงานรัฐอย่างเช่น NASA ด้วย
ด้วยความที่ NASA จะใช้วัสดุอะไร ก็จะต้องมีการทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ซึ่งอลูมิเนียมจาก SPI ก็เช่นกัน โดยหลังจากการทดสอบ SPI ก็ต้องออกเอกสารรับรองคุณสมบัติของวัสดุ
Sapa Profiles Inc. (ภาพ: Shreveport Times)
ด้วยความที่ลูกค้าหลายรายของ SPI เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้นอกจากทีมสืบสวนของ NASA ก็ยังมีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DOJ) เข้าร่วมในการค้นหาความจริงนี้ด้วย
หลังจากการสืบสวนอันยาวนานหลายปี ทาง DOJ ก็เพิ่งออกรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา โดยสรุปว่า SPI ได้ทำการปลอมแปลงผลการทดสอบ และเอกสารรับรองคุณสมบัติวัสดุกว่า 1,000 ครั้ง ซึ่งเป็นการรับรองสินค้าที่ส่งมอบไปให้ลูกค้าหลายร้อยรายตลอดเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ถึง 2015)
ในรายงานของ DOJ กล่าวว่า …
“เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ที่ SPI และพนักงานของบริษัท ได้ปกปิดกระบวนการผลิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยการปลองแปลงผลการทดสอบอย่างไร้ความละอายใจ …. จากนั้นพวกเขาก็นำเอาผลการทดสอบปลอม ๆ นั้น ไปใช้ขายสินค้ากับลูกค้าหลายร้อยรายทั่วประเทศ เพียงเพื่อผลกำไร และโบนัส สำหรับตนเองเท่านั้น”
ส่วนของ NASA เองก็ออกแถลงการณ์ว่า…
“NASA นั้นต้องพึ่งพาอาศัยความซื่อสัตย์ในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าเราจะทำการทดสอบเองได้ในหลาย ๆ องค์ประกอบ แต่เราก็ไม่สามารถทดสอบซ้ำได้ในทุก ๆ เรื่อง นั่นคือเหตุผลที่เราเสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้ขายของเรา เพื่อทำการทดสอบและรับรองสินค้าด้วยตนเอง …
… ความไว้วางใจที่เรามอบให้แก่ผู้ผลิตเพื่อทำการผลิต ทดสอบ และรับรองวัสดุต่าง ๆ นั้น มีความสำคัญอย่างมาก หากผลการทดสอบถูกแก้ไข และเอกสารรับรองถูกปลอมแปลง ภารกิจของเราก็ย่อมล้มเหลว ซึ่งในเหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจของเราได้ถูกพวกเขาละเมิดอย่างรุนแรง”
SPI และบริษัทแม่ (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Hydro Extrusion Portland, Inc. และ Hydro Extrusion USA, LLC. ตามลำดับ) ถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมมูลค่าทั้งสิ้น 46 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นค่าเสียหายสำหรับ NASA, กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ และ ผู้เสียหายรายอื่นรวมกัน
และแม้ว่า SPI จะถูกทางการสหรัฐ สั่งห้ามรับงานของภาครัฐด้วย แต่ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นได้ว่าเงินชดเชยที่เหยื่อได้รับนั้น เทียบไม่ได้กับความมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเลยนะครับ
บทเรียนที่ได้จากกรณีศึกษานี้ มีอยู่สองสามข้อ …
ประการแรก การทุจริตลักษณะนี้ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ ACFE ได้จัดไว้ให้แล้วในกลุ่มของการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อที่เกิดภายหลังการทำสัญญา (Post Award and Administration) โดยเรียกว่า “Nonconforming Goods or Services” หรือจะแปลว่า “การส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา” ก็ได้
เทคนิคในการทุจริตแบบนี้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งของไม่ดีปะปนเข้ามากับของดี การจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อตกลงมาทำงานในโครงการ รวมทั้งการปลอมแปลงผลการทดสอบ หรือใบรับรองคุณสมบัติต่าง ๆ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ NASA และหลาย ๆ องค์กรโดน SPI จัดให้อย่างเจ็บปวด
โดยทั่วไปการทุจริตแบบนี้จะกระทำโดยบริษัทผู้ขาย หรือผู้รับจ้าง แต่ในกรณีอื่น ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ “คนใน” ก็อาจจะรับรู้ถึงปัญหานี้ด้วย แต่ก็เลือกที่จะเงียบ ๆ ไว้เพราะเงินอุดปากอยู่ ซึ่งนั่นหมายถึงมีการคอร์รัปชั่น การรับสินบน เกิดขึ้นร่วมด้วย
ถ้าไม่อยากเจอวิกฤติเช่นเดียวกับ NASA องค์กรสามารถสังเกตข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ว่าอาจจะกำลังเจอการทุจริตประเภทนี้อยู่ เช่น
… วัตถุดิบที่ได้รับมี อัตราส่วนของเสียเยอะผิดปกติ
… อะไหล่เปลี่ยนบ่อยผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ปริมาณการผลิตยังเท่าเดิม
… เอกสารทดสอบสินค้ามีร่องรอยการแก้ไข หรือมีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน
… การทดสอบหรือการรับรองสินค้ากระทำโดยฝ่ายผู้ขายเพียงฝ่ายเดียว
สำหรับวิธีการป้องกันนั้น ที่จริงไม่มีอะไรซับซ้อนเลย อย่างในกรณีของ NASA เองก็ยอมรับไว้ในแถลงการณ์ถึงความผิดพลาดของตน นั่นคือการเชื่อใจผู้อื่นมากเกินไปในงานที่สำคัญ ๆ เช่นการทดสอบวัสดุในการผลิต
หากหน่วยงานทำเองไม่ได้ทุกอย่าง ก็ควรจะโอนความเสี่ยงไปยังการรับประกัน ที่ต้องครอบคลุมความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ให้มากที่สุด
ในกรณีนี้ ผมคิดว่า NASA พลาดไปพอสมควร
ประการที่สอง ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าผู้เสียหาย ได้รับการเยียวยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับความเสียหายที่แท้จริง …
ซึ่งความจริงอันน่าเศร้านี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของ ACFE เมื่อปี 2018 ที่ทำการสอบถามองค์กรที่เป็นเหยื่อของการทุจริตจากทั่วโลก และพบว่า …
15% ของเหยื่อ ได้รับค่าเสียหายคืน 100%
32% ของเหยื่อ ได้รับค่าเสียหายคืนบางส่วน
53% ของเหยื่อ ไม่ได้อะไรกลับมาเลย
NASA และผู้เสียหายทั้งหมด ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สองนั่นแหละครับ ซึ่งถึงแม้จะได้คือมาไม่กี่เปอร์เซ็น ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรกลับมาเลยเหมือนเหยื่อของการทุจริตส่วนใหญ่
สุดท้าย แม้ว่าจะเจออุปสรรคดังกล่าว เหล่านักวิทยาศาสตร์ของ NASA ก็ยังสู้ต่อไป …
สำหรับภารกิจ Glory นั้น ผมไม่พบข้อมูลว่าได้มีความพยายามครั้งใหม่ ก็เข้าใจว่าโครงการเป็นอันยุติไปตั้งแต่ตอนนั้น
แต่ในปี 2014 โครงการ OCO-2 ได้สานต่อภารกิจของ OCO โดยการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ และปัจจุบันก็มีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนเป็นภารกิจ OCO-3 ในปี 2019 นี้เอง …
ตราสัญลักษณ์ของภารกิจ OCO-3 (ภาพ: NASA)
อ้างอิง
1. ACFE Insights
https://acfeinsights.squarespace.com/acfe-insights/2019/5/21/nasa-falls-victim-to-a-19-year-fraud-scheme
2. NASA Press Release
https://www.nasa.gov/press-release/nasa-investigation-uncovers-cause-of-two-science-mission-launch-failures
3. Department of Justice News
https://www.justice.gov/opa/pr/aluminum-extrusion-manufacturer-agrees-pay-over-46-million-defrauding-customers-including
4. Popular Science
https://www.popsci.com/nasa-aluminum-fraud
5. Blookmberg
https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-05-01/nasa-says-aluminum-fraud-caused-700-million-satellite-failures
6. NASA Mission Glory
https://www.nasa.gov/mission_pages/Glory/news/index.html
ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th
Email: author[at]antifraud.in.th