Blog ว่าด้วยเรื่องการทุจริตในองค์กร การบริหารความเสี่ยง และเรื่องอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

ผลประโยชน์ทับซ้อน: ต้นกำเนิดของการทุจริตในแบบอื่น ๆ



ใน Post ที่ผ่าน ๆ มาผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วว่าการทุจริตในองค์กรตามหลักของ Association of Certified Fraud Examiners (ACFE) นั้น เค้าแบ่งไว้ 3 กลุ่มใหญ่ โดยแต่ละกลุ่มจะมีประเภทย่อย ๆ ลงไปอีก และก็สัญญาไว้ว่าจะเขียนถึงแต่ละประเภทให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักในรายละเอียด

วันนี้จะขอเริ่มที่กลุ่มแรก คือ Corruption แต่จะเล่าให้ฟังถึงประเภทย่อยประเภทแรกก่อนคือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of Interest ครับ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันในความหมายทางวิชาการของคำ ๆ นี้กันก่อนนะครับ

ACFE กล่าวไว้โดยสรุปว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” คือสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกิดไปมี “ส่วนได้ส่วนเสีย” ที่หลากหลายจนกระทบกับกระบวนการตัดสินใจ และนำไปสู่การกระทำ (หรือการไม่กระทำ) ใด ๆ ที่ไม่เป็นถูกต้อง ไม่เป็นธรรม

พูดง่าย ๆ คือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เกิดขึ้นเมื่อใครสักคน ต้องดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายต่าง ๆ มากกว่า 1 ฝ่าย ซึ่งปัญหาคงไม่เกิดหากแต่ละฝ่ายนั้น ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีผลประโยชน์มาขัดแย้งกัน หรือมาทับซ้อนกัน

แต่หากวันหนึ่ง ถ้าข้างหนึ่งเป็นฝ่ายได้ อีกข้างหนึ่งต้องเป็นฝ่ายเสีย คำถามที่เกิดขึ้นคือ คนที่อยู่ตรงกลางจะเลือกใคร? และเลือกอย่างถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่?

เรามาลองดูสถานการณ์ตัวอย่างนี้กัน
(เรื่องสมมติทั้งนั้นนะครับ)


ตัวอย่างที่ 1 … นาย A เป็นผู้จัดการโรงงาน X และเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งมีนาย B เป็น Supplier หลักมาโดยตลอด ซึ่งจริง ๆ แล้วนาย B เป็นน้องชายของนาย A

อยู่มาวันหนึ่ง นาย B ส่งมอบไม่ทัน จึงไปซื้อของต่อมาจากนาย C ซึ่งขายวัตถุดิบแบบเดียวกันแต่ในราคาถูกกว่า จากนั้นนาย B ก็นำมาขายต่อให้โรงงาน X ในราคาปกติที่เคยตกลงกันไว้ พูดง่าย ๆ คือนาย B กินส่วนต่างแบบฟรี ๆ

ถ้านาย A ทราบข้อมูลนี้ นาย A ควรจะทำอย่างไรดี ?


ตัวอย่างที่ 2 … บริษัท สารขัณฑ์ จำกัด มีนายประหยัด เป็นประธานกรรมการ มีนายประชุมเป็นผู้บริหารระดับสูง อยู่มาวันหนึ่งบริษัทนี้ เปิดประมูลก่อสร้างป้อมยาม โดยมีหนึ่งในผู้เข้าประมูลคือนายประถม ซึ่งเป็นลูกชายของนายประชุม (และก็คือหลานลุงของนายประหยัด) มาเข้าประมูลแข่งเป็นผู้รับเหมาในโครงการนี้ด้วย

พอคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับเหมาของบริษัททราบข้อมูลนี้เข้า พวกเขาควรจะทำอย่างไรดี ?


ตัวอย่างที่ 3 … ธนาคารเก๊กซิม ตั้งอยู่ในชุมชน ตลาดไธย ได้ปล่อยสินเชื่อให้ บริษัท รามัญ จำกัด เพื่อนำไปลงทุนต่อในการทำร้านอาหาร โดยกำหนดเงื่อนไขให้ซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบจากตลาดไธยเท่านั้น

ทั้งนี้ธนาคารเก๊กซิมมีผู้บริหารระดับสูง(มาก)รายหนึ่งชื่อ ว่านายแพ้ว โดยนายแพ้วคนนี้ก็เป็นผู้บริหารของตลาดไธยด้วย แถมนายแพ้วยังเป็นเจ้าของแผงขายผักรายเดียวที่ตั้งอยู่ในตลาดนี้อีกต่างหาก

หลังจากได้สินเชื่อแล้วบริษัท รามัญ จำกัด ได้มาซื้อผักจากแผงของนายแพ้วเป็นจำนวนมากตามข้อตกลง

แต่ต่อมาคนในธนาคารและในตลาดมารู้กันภายหลังว่า บริษัท รามัญ จำกัดนั้น ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปในอัตราดอกเบี้ยราคาถูกมาก คือได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนของธนาคารเสียอีก

คนในตลาดควรจะทำอย่างไร?


ภาพจาก https://ethicsunwrapped.utexas.edu/glossary/conflict-of-interest

ย้อนกลับไปที่บรรทัดแรก ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงเขียนไว้ในหัวข้อของเรื่องนี้ว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นต้นกำเนิดของการทุจริตแบบอื่น ๆ ?

เราลองกลับไปทบทวนตัวอย่างทั้ง 3 กันอีกรอบ …

ตัวอย่างแรก กรณีนี้ผู้จัดการ A ถือว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเมื่อผู้จัดการ A ทราบข้อมูลว่าน้องชายของตนเองได้กินส่วนต่างแบบฟรี ๆ เขาก็ต้องเลือกแล้วหล่ะว่าจะรักษาผลประโยชน์ของโรงงาน หรือผลประโยชน์ของน้องชาย

เพราะผู้จัดการ A ก็คงรู้ดี ว่าถ้าเขาหากย้ายไปซื้ออีกเจ้าที่ราคาถูกกว่า น้องชายคงหลุดวงโคจรการขายวัตถุดิบให้โรงงานของนายจ้างไปอีกนาน เนื่องจากคนอื่นก็จะทราบว่า ที่ผ่านมานาย B ขายของแพงมาโดยตลอด แถมตัวนาย A เองก็อาจจะถูกเพ่งเล็งอาจจะได้รู้เห็นกับน้องชาย สู้เหยียบ ๆ เรื่องนี้ไว้ไม่ดีกว่าเหรอ ?

ถ้าผู้จัดการ A เลือกทำแบบที่ตัวเองปลอดภัย มันก็จบลงที่การทำให้โรงงาน X เสียเงินโดยให้นาย B น้องชายไม่จำเป็น

ใช่แล้วครับ มันคือการทุจริตกลุ่มที่ 2 ของ ACFE ที่เรียกว่า “การยักยอกทรัพย์” นั่นเอง

ส่วนในตัวอย่างที่ 2 คณะกรรมการคัดเลือกผู้รับเหมา ตอนนี้ก็มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย เนื่องจากโดยหน้าที่แล้วพวกเขาต้องเลือกผู้รับเหมาที่เหมาะสมที่สุด แต่ในอีกฐานะหนึ่งพวกเขาก็เป็นลูกน้องของทั้งนายประหยัด และนายประชุม หากเลือกออกมาแล้ว “นาย” ไม่ถูกใจ อนาคตในการงานก็อาจจะไม่แน่ไม่นอน

ดังนั้นทางออกที่คณะกรรมการฯ ที่ “อยู่เป็น” มักจะเลือก ก็คือการทำให้ “นาย” พอใจเพื่ออนาคตการงานที่ดี และหาวิธีการที่ทำให้พูดได้ว่าได้คัดเลือกนายประถมมาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเทคนิคในการทำให้ใครสักคนชนะการประมูลงานนั้นมีมากมายครับ ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสถัดไปครับ

สรุปแล้ว สิ่งที่คณะกรรมการฯทำลงไป ก็คือ “การเอื้อประโยชน์” ให้บุคคลหนึ่ง (ลูกและหลานผู้บริหาร) เพื่อ “ผลประโยชน์ส่วนตน” ซึ่งก็คืออนาคตในอาชีพการงาน

ใช่แล้วครับ มันคือพฤติกรรมที่เข้าข่ายการให้และรับสินบนชนิดหนึ่งเช่นกัน

สำหรับในตัวอย่างสุดท้าย คนในธนาคารเก๊กซิม และในตลาดไธยพอรู้ความจริงว่าบริษัท รามัญ จำกัด ได้สินเชื่อไปในอัตราดอกเบี้ยถูกแสนถูก ก็เลยถึงบางอ้อว่านายแพ้ว “เอื้อประโยชน์” ให้ บริษัท รามัญ จำกัด เพื่อ “ผลประโยชน์” ที่ รามัญจะมาซื้อของแผงขายผักตัวเอง

แต่แพ้วก็ “ใจดี” ที่สร้างผลประโยชน์ร่วมให้พ่อค้าแม่ค้าบางกลุ่มองในตลาดได้ด้วยนะ เพราะกำหนดเงื่อนไขไว้ว่ารามัญต้องมาซื้อของจากตลาดไธยเท่านั้น

คือฟังดูเหมือนเป็นการทำธุรกิจอย่างชาญฉลาด คนในตลาดก็ควรจะชื่นชมยินดีกับการทำงานของแพ้ว แต่อย่าลืมนะครับว่าเงินกู้ที่ รามัญ ได้ไปนั้น มาจากความเสี่ยงและความเสียหายของเก๊กซิม

หนำซ้ำแผงขายผักของแพ้วนั้น ผูกขาดมีอยู่เจ้าเดียวมาตั้งแต่แรก ถ้ารามัญมีเงินลงทุนยังไงแพ้วก็ขายผักได้

ทั้งหมดนี้เป็นการ Corruption ที่ซับซ้อน แต่ก็อยู่ในกลุ่มของรับสินบน รวมทั้งการยักยอกทรัพย์ด้วยทั้งสิ้น

ตัวอย่างทั้ง 3 นี้ เริ่มต้นจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ความเสียหาย จะมาจากการทุจริตแบบอื่น ๆ ทั้งหมด …

วิธีการแก้ปัญหาการทุจริตที่เกิดมาจากผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ๆ แล้วก็ง่ายนิดเดียว คืออย่าให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย มาทำหน้าที่สำคัญ ๆ

เราจะไปโลกสวยหวังว่า นาย A หรือ เหล่าคณะกรรมการ (ซึ่งเป็นลูกน้องนายประหยัดนายประชุม) หรือนายแพ้ว จะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม คือไม่เอาส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายของตนมากระทบการตัดสินใจ งั้นเหรอ?

ในโลกแห่งความเป็นจริง หายากครับคนที่จะไม่หวั่นไหวกับผลประโยชน์ที่ตัวเองควบคุมได้ …

เพราะคนเราไม่ใช่พระอิฐพระปูน ต่อให้วันนี้ทำงานอย่างเป็นธรรม วันหน้าก็ไม่แน่ ที่เราเห็น ๆ ส่วนใหญ่ก็ปิดตาข้างหนึ่ง และเลือกฝั่งที่ตนเองมีส่วนได้มากกว่าส่วนเสีย ซึ่งน้อยครั้งที่จะเลือกองค์กร หรือประเทศชาติก่อน ตนเอง ครอบครัว หรือพวกพ้อง


ภาพจาก https://memegenerator.net

ขอสรุป Post นี้ด้วยความเห็นส่วนตัวอีกสักหน่อยตามนี้นะครับ …

ตัวอย่างที่ 1 นั้นเป็นลักษณะทั่ว ๆ ไปของเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คือนาย A จะเลือกนายจ้าง (บริษัท X) หรือจะเลือกนาย B น้องชาย ไม่มีอะไรมาก

ตัวอย่างที่ 2 นายประหยัดกับนายประชุมสองพี่น้องนี้ จริง ๆ แล้วถือว่าลอยตัวเหนือปัญหา เพราะโยนเรื่องและความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่ลูกน้องซึ่งก็คือคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งผู้นำหรือผู้บริหารส่วนใหญ่ก็แนวนี้แหละครับ

ส่วนในตัวอย่างที่ 3 นั้นถ้าท่านผู้อ่านวิเคราะห์ดูดี ๆ สิ่งที่นายแพ้วทำกับตลาดไธยก็คือ การทำให้ทุก ๆ คนในตลาดมามีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายร่วมกับเขา เป็นการดึงคนอื่นให้อยู่ในสถานะเหมือนกับตัวเอง และเป็นการสร้างวัฒนธรรมของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ยั่งยืนจริง ๆ …


ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th
Email: author[at]antifraud.in.th


เพิ่มเติม
บทความนี้เขียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้น่าสนใจครับ ถ้ามีเวลาลองตามไปอ่านได้
https://www.the101.world/conflict-of-interest/