เช็คอายุหน่อยดีกว่า … เคยดูเปาบุ้นจิ้นรุ่นนี้กันไหมครับ?
คือจริง ๆ แล้ว Post นี้ไม่เกี่ยวกับท่านเปาหรอกครับ แต่เวลาที่นึกถึงคำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ผมจะคิดถึงหน้าท่านเปา เวอร์ชั่นที่แสดงโดย จิน เชาฉฺวิน และให้เสียงพากษ์โดย คุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ
เพราะเวลาท่านเปาพูดคำนี้ด้วย สีหน้า แววตา และน้ำเสียงของคุณกำธร ผมว่ามันช่างมีพลังน่าเกรงขามยิ่งนัก …
เข้าเรื่องของเราดีกว่า คือคำว่า Corruption นี้ ผมเห็นว่าเรามักจะใช้ทับศัพท์กันไปเลย และคำในภาษาไทยที่ใช้แทนกันบ่อย ๆ คือ คำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง”
แต่ถ้าดูในรายละเอียด สองคำนี้น่าจะคนละความหมายกัน
เรามาดูคำแรกกันก่อน
Corruption นั้นเป็น 1 ใน 3 กลุ่มของการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ตามหลักของ Association of Certified Fraud Examiners (ACFE) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมีดังนี้
1. Corruption (คอร์รัปชั่น)
2. Asset misappropriation (ยักยอกทรัพย์)
3. Financial statement fraud (การทุจริตงบการเงิน)
และ ACFE ยังแบ่งประเภทย่อยของ Corruption ได้อีก 4 แบบ คือ
1. ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
2. สินบน (Bribery)
3. การให้สิ่งตอบแทนโดยมิชอบ (Illegal gratuities)
4. การขู่กรรโชกในเชิงเศรษฐกิจ (Economic extortion)
โดยประเภทของการทุจริตนั้น ยังมีอีกมากมาย ดังภาพ Fraud Tree ของ ACFE ด้านล่าง ซึ่งเราจะคุยกันในโอกาสต่อ ๆ ไปครับ
Fraud Tree โดย ACFE
ทีนี้เรามาดูคำที่สองกันต่อ
คำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต คือ “การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้วไม่ส่งหลวง หรือเบียดบังเงินหลวง”
ที่มาของคำนี้ ก็น่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยโบราณที่เจ้าหน้าที่รัฐไปเก็บอากร เก็บส่วย แล้วไม่ส่งเข้าหลวง นั่นแหละครับ
ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูประเภทย่อยของ Corruption ทั้ง 4 แบบ ท่านผู้อ่านคงเห็นตรงกันว่าไม่เห็นมีข้อไหนจะใกล้เคียงกับ การ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ตามความหมายของ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต เลย
เพราะ Corruption โดยลักษณะอาการ จะเป็นการใช้อำนาจ หน้าที่ของตนที่ได้รับมาจาก องค์กร หรือ สังคม เพื่อหาประโยชน์เพิ่มเติม ที่ไม่ได้เป็นการเบียดบังเอามาจากตัวทรัพย์สินขององค์กร หรือสังคมนั้น ๆ โดยตรง ตัวอย่างเช่น
… เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน นาย ก. จึงเอื้อประโยชน์ในโครงการภาครัฐ ให้ธุรกิจในครอบครัว
… เพราะมีอำนาจตัดสินใจ จึงมีคนเอา แก้ว แหวน นาฬิกา เงิน ทอง มาให้ นาย ป. เพื่อจูงใจ ล่อใจ
… เพราะเป็นตัวแทนของคนในชุมชม นาย ว. จึงเรียกรับ “ค่าดำเนินการ” จากผู้รับเหมา
ทั้งหมดนี้คือการทุจริตที่ตกอยู่ในข่าย Corruption ครับ
ถ้าไม่ใช่แบบเดียวกับ Corruption แล้วการ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” คือการทุจริตในกลุ่มไหน
กลับไปดูที่มาของการฉ้อราษฎร์บังหลวงก่อนว่าหมายถึงการที่เจ้าหน้าถือเงินหลวง เงินของราชการ ที่ไปเก็บมาจากประชาชนอยู่ แต่เบียดบังเอาไปใช้เอง …
… ใช่แล้วครับ ผมว่ามันคือกลุ่มที่ 2 ของการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ หรือ การยักยอกทรัพย์ (Asset misappropriation) มากกว่า
เพราะลักษณะพฤติกรรม มันเป็นการที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ ได้เบียดบัง และยักยอกเอาทรัพย์สินของหลวง ของบ้านเมือง หรือของสังคม ไปเป็นของตนโดยมิชอบ ซึ่งจะเข้าข่าย Asset misappropriation ครับ
อนึ่ง คำว่า “Asset misappropriation” นั้น ถึงเราจะแปลว่า “ยักยอกทรัพย์” ก็จริง แ่ต่ในบริบทของเรานี้ ควรจะหมายถึงการลักขโมยทั่ว ๆ ไป รวมทั้งการฉกฉวยทรัพย์ขององค์กรไปเป็นของตัวเอง ซึ่งจะต่างจากการกระทำผิดตาม มาตรา 352 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องมีการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นอยู่ก่อน และได้เบียดบังไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
ใน Post ต่อ ๆ ไปเราจะได้คุยกันในรายละเอียดของการทุจริตแต่ละประเภทให้ชัดเจนขึ้นครับ Post นี้ขอจบแค่นี้ก่อน เพราะถ้าเริ่มแล้ว เดี๋ยวเรื่องจะยาวเกินไป
แต่ผมขอปิดท้าย ด้วยวาทะของท่านอดีตนายกรัฐในตรีของเราท่านหนึ่ง …
“… ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียงสองปี
ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้ …”
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
แฟ้มภาพจาก มติชน
ปล.1 เมื่อได้ยินผมพูดถึงประโยคนี้ของคุณชายคึกฤทธิ์เข้า มิตรสหายท่านหนึ่งก็ตอบผมมาทันทีว่า “… พอปูด้วยทองคำเสร็จแล้ว ถนนก็จะถูกขโมยไปหมดเกลี้ยงในวันถัดไป… ”
ปล.2 ส่วนมิตรสหายอีกท่านหนึ่ง ก็เสริมขึ้นมาลอย ๆ ว่า “… นี่ประเทศเราก็ไม่มีนักการเมืองอยู่ในอำนาจและมีโอกาสโกงมาหลายปีแล้วนะ ทำไมยังไม่เห็นถนนทองคำสักเส้น …”
ขอไปหัวเราะทั้งน้ำตาแป๊บนึงนะครับ …
ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th
Email: author[at]antifraud.in.th
อ้างอิง
1. Fraud tree
https://www.acfe.com/fraud-tree.aspx
2.บทความของ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง เกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643533