Blog ว่าด้วยเรื่องการทุจริตในองค์กร การบริหารความเสี่ยง และเรื่องอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กร (ตอนที่ 1)

ทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริต


หนึ่งในความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในองค์กรที่ผมชอบหยิบมาพูดบ่อย ๆ คือความเชื่อที่ว่า “คนส่วนใหญ่เป็นคนซื่อสัตย์ และไม่มีวันทุจริตองค์กร”

แปลไทยเป็นไทยคือ “พนักงานของเราเป็นคนดีและรักองค์กรกันทั้งนั้น ไม่มีใครจะโกงบริษัทได้หรอก”

ความเชื่อนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ องค์กรที่ผมเคยร่วมงานด้วย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการทุจริตในองค์กรเท่าที่ควร จนกระทั่งสายเกินไป

อันที่จริง ถ้าคนเราไม่เชื่อกันแบบนี้สังคมก็น่าจะอยู่กันยาก เพราะเราคงจะไว้ใจคนที่อยู่ข้าง ๆ กันไม่ได้เลย ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นเพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก หรือคนแปลกหน้า

ว่าแต่ความเชื่อนี้ผิดตรงไหน ?


ในปี ค.ศ. 1953 นักสังคมวิทยาและอาชญวิทยา ชาวอเมริกันคนหนึ่ง คือ ดร.โดนัลด์ เครสซีย์ (Donald Cressey) ได้ให้สมมติฐานไว้ในหนังสือชื่อ Other’s People Money เพื่ออธิบายว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเราใช้ความเชื่อถือที่ตนเองได้รับ เพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบ

พูดง่าย ๆ คือ มันเป็นสมมติฐานที่อธิบายว่าทำไมคนเราถึง “โกง” กันได้

ต่อมาสมมติฐานนี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ (Occupational fraud) หรือการทุจริตในองค์กรที่กระทำโดยพนักงานหรือผู้บริหาร ที่เรียกว่า “ทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริต” หรือ “Fraud Triangle Theory”

ทฤษฎีนี้อธิบายไว้ว่า พนักงานที่เป็นสุจริตชนดี ๆ สามารถเดินเข้าสู่ด้านมืดได้ หากเกิดปัจจัยทั้ง 3 ครบในชีวิตของเขา

ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่

1. แรงกดดัน (Pressure)
2. โอกาส (Opportunity)
3. เหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization)

Fraud Triangle

ปัจจัยแรก คือแรงกดดัน สิ่งเร้า สิ่งกระตุ้น ที่ผลักดันให้คน ๆ นึงกระทำทุจริต ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปคือปัญหาชีวิตต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาทางออก หรือบอกให้ใครมาช่วยแก้ไขไม่ได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะจบลงที่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ

การติดพนัน มีหนี้สิน ใช้ชีวิตหรูหราเกิดตัว มีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษา หรือ มีโลกสองใบ มีบ้านเล็กบ้านน้อยที่นับวันก็เรียกร้องค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของแรงกดดันที่ผมเคยสังเกตเห็นจากพนักงานที่ทุจริตบริษัท

ปัจจัยต่อมาคือ โอกาส ซึ่งได้แก่ช่องโหว่ในกระบวนการของการทำงาน เช่น การไม่แบ่งแยกหน้าที่ให้ชัดเจน จนทำให้คน ๆ เดียวสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างโดยไร้การตรวจสอบ หรือ แม้กระทั่งข้อผิดพลาด (Bug) ในระบบงาน ที่เอื้อให้คนที่มองเห็นช่องโหว่นี้ ฉวยโอกาสกระทำทุจริตได้

ส่วนปัจจัยข้อสุดท้าย คือ เหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ “ความสามารถในการให้เหตุผลเข้าข้างตนเอง”

ปัจจัยนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คนเราคงไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เวลาเราดูหนังดูละคร คงไม่มีใครเชียร์ฝั่งตัวร้าย ใคร ๆ ก็อยู่ฝั่งพระเอกนางเอกกันทั้งนั้น (ถ้ามีใครไม่ได้เป็นแบบนี้ รบกวนแนะนำตัวด้วยนะครับ)

ดังนั้น สุจริตชนคนดี ๆ ต่อให้สบช่องเห็นโอกาส หรืออยากได้เงินมากขนาดไหน ก็คงไม่มีใครคิดจะโกงผู้อื่น จนกระทั่งเขาหรือเธอผู้นั้น ตอบตัวเองได้ว่า ทำไมเราถึงต้องทำแบบนี้

… “แค่ยืมมาหมุนแป๊บเดียว เดี๋ยวคืน”

…. “งานก็หนัก แต่บริษัทก็ไม่ขึ้นเงินเดือนให้”

…. “ผลประกอบการไม่ดี โบนัสน้อย แต่ทำไมผู้บริหารถึงออกรถใหม่ แบบนี้ไม่แฟร์”

มีกรณีหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมา คือในระหว่างการสัมภาษณ์พนักงานที่ต้องสงสัยว่าทุจริตบริษัท ผู้สัมภาษณ์โต้แย้งกับพนักงานรายนั้นว่า “ผมไม่เชื่อว่าคุณก็จะยักยอกเงินบริษัทไปแค่นี้ เพราะจากวิธีที่คุณใช้ คุณน่าจะเอาไปได้มากกว่านี้”

พนักงานคนนั้นจึงอธิบายว่า “ที่ผมเอาไปแค่นี้ ก็เพราะนี่คือเงินที่ผมสมควรจะได้จากโบนัส ถ้าผมได้รับการประเมินผลงานที่เป็นธรรมเมื่อปีก่อน”

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของ “เหตุผลเข้าข้างตนเอง” ที่อาจจะดูไม่เข้าท่านัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้คน ๆ นั้นกลับบ้านส่องกระจกแล้วยังมองหน้าตัวเองได้ หรือกลับไปเจอหน้าคนในครอบครัวก็ไม่ละอายใจ

ดังนั้น หากใครสบโอกาสเห็นช่องโหว่ และมีแรงกดดันจากความต้องการแล้ว ที่เหลือก็รอแค่ว่าเมื่อไหร่คน ๆ นั้นจะสามารถหาเหตุผลมารองรับสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำได้เท่านั้น

หากมีเหตุผลตอบตัวเองได้เมื่อไหร่ สามเหลี่ยมทุจริตก็ครบองค์ประกอบ การทุจริตก็จะเกิดขึ้นทันที และปัจจัยข้อนี้ ก็ดูจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายก่อนคนดี ๆ จะเดินเข้าสู่ด้านมืดของการทุจริต


กลับมาที่คำถามที่ฝากไว้ตอนต้น คือ ความเชื่อที่ว่า “คนส่วนใหญ่ของเรา เป็นคนซื่อสัตย์ และไม่มีวันทุจริตต่อองค์กร” มันผิดตรงไหน ?

แน่นอนว่า โดยส่วนใหญ่คงไม่มีพนักงานคนไหน อยากจะโกงบริษัทตลอดเวลา และก็คงไม่มีใครคิดหรอกว่าพนักงานที่กระทำทุจริต ตั้งใจจะสมัครงานเพื่อเข้ามาโกงบริษัทตั้งแต่แรก

ปัญหาของความเชื่อนี้คือ มันทำให้เราทึกทักกันไปเองว่า คนดี คนสุจริต ที่อยู่ในองค์กรของเราทุกคน จะเป็นแบบที่เคยเป็นไปได้ตลอดกาล

เพราะทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริต กำลังบอกเราว่า คนดี ๆ จะหลงเดินทางผิดได้ ก็เพียงแค่ต้องการปัจจัยทั้ง 3 ข้อข้างต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดกับใครก็ได้

ตลอดช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ดำเนินไป อาจจะเจอแรงกดดันจากปัญหาชีวิตใหม่ ๆ อาจจะได้รับการมอบหมายตำแหน่งงานใหม่ ที่สร้างโอกาสในการหาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่

และหากคน ๆ นั้น สามารถหาเหตุผลอะไรสักอย่างที่แม้จะดูไม่เข้าท่า แต่ทำให้ตนเองรู้สึกสบายใจได้ คน ๆ นั้นก็พร้อมเดินเข้าสู่ด้านมืด โดยไม่สำคัญว่าเขาเป็นคนสุจริตมานานแค่ไหน

คือมันไม่ผิดหรอกครับ ถ้าเราจะเชื่อว่า “คนส่วนใหญ่ (ในองค์กร) ของเราเป็นคนซื่อสัตย์ และไม่มีวันทุจริตต่อองค์กร” แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ในความเป็นจริง คนเราไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้ตลอดไป


แล้วการที่เรารู้จักปัจจัยทั้ง 3 ของทฤษฎีนี้ มันจะมีประโยชน์อะไรกับองค์กร ?

สามเหลี่ยมทั่ว ๆ ไป จะเกิดได้ ต้องมี 3 ด้าน 3 มุม

สามเหลี่ยมทุจริตก็เช่นเดียวกัน ต้องมีปัจจัยทั้ง 3 อย่างครบ การทุจริตถึงจะเกิด

ดังนั้น ถ้าองค์กรใด ๆ ต้องการจะลดปัญหาการทุจริต ก็แค่ปิดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็พอแล้ว บางองค์กรจริงจังกับเรื่องนี้มาก พยายามจะให้ปิดให้หมด แต่ส่วนใหญ่วิธีที่เราจะเห็นองค์กรเลือกทำมากที่สุดคือการลด “โอกาส” ในการกระทำผิด

… “การควบคุมภายใน” (Internal controls)

…. “การแบ่งแยกหน้าที่” (Segregation of duty) หรือ “การปรับเปลี่ยนตำแหน่ง” (Job rotation)

…. “ระบบรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ” (IT Security)

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือกลไกในการลดโอกาส หรือปิดช่องโหว่ในการกระทำทุจริต ซึ่งทำไม่ยาก และวัดผลได้ง่าย

แต่ต้องระวังนิดนึงตรงที่ หากมีการควบคุมมากเกินไป มันอาจจะสร้างแรงกดดันในการทำงานก็ได้ เช่น “จะห้ามอะไรกันนัก คนจะรีบทำงาน แบบนี้เราหาทางลัดดีกว่า”

แล้วพอหาทางลัดได้บ่อยเข้า ก็เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นช่องโหว่ และเป็นโอกาสในการทุจริตตามมา


ท่านผู้อ่านเคยได้ยินสุภาษิตรัสเซียกล่าวที่ไว้ (เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ) ว่า “Trust, but verify” มาก่อนมั๊ยครับ?

ความเชื่อใจเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความไว้วางใจ ความสนิทสนมกัน มันทำให้งานลุล่วงไปได้ก็จริง

แต่จงรักษาความเป็นมืออาชีพของคุณไว้ ด้วยการหมั่นสอบทาน หมั่นตรวจสอบ และยึดถือกระบวนการควบคุมที่มีอยู่เป็นหลักเพราะคนเราส่วนใหญ่ซื่อสัตย์สุจริตก็จริง แต่คนเราไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้ตลอดไป

เพราะเวลาเกิดเหตุทุจริตขึ้นในองค์กรจริง ๆ คนแรกที่มักจะเดือดร้อน ก็คือคนที่เชื่อใจผู้อื่นมากเกินไปนั่นแหละครับ


ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังถึง วิธีการที่น่าจะช่วยลดปัญหาการทุจริต ด้วยการจัดการสองปัจจัยที่เหลือคือ “แรงกดดัน” และ “การให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง” ครับ


ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th
Email: author[at]antifraud.in.th


อ้างอิง

1. Five Myths About Fraud 
http://fcpacompliancereport.com/2011/02/five-myths-about-fraud/

2. The Fraud Triangle
https://www.acfe.com/fraud-triangle.aspx

3. Iconic Fraud Triangle endures
https://www.fraud-magazine.com/article.aspx?id=4294983342

4. สำหรับท่านที่สงสัยว่าทำไมผมพูดถึงสุภาษิตรัสเซีย แต่ใช้ Meme เป็นภาพของท่านอดีต ปธน. เรแกน ก็ไปชมที่มาได้จาก YouTube นี้ครับ