(ภาพ: Lego.com)
มีลูกค้าเคยถามผมว่า พนักงานของสำนักงานสาขาแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ชอบเอารถมาล้างที่ลานจอดรถของบริษัทในช่วงสุดสัปดาห์ โดยใช้น้ำประปาของบริษัท แบบนี้ถือว่าทุจริตหรือไม่ ?
หรืออีกรายคือ มีพนักงานจากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตน เคยฝากคำถามให้ผมไปถามผู้บริหารขององค์กรนั้นว่า การที่พวกท่าน ๆ ผู้บริหารเอารถประจำตำแหน่งไปใช้ทำธุระส่วนตัว ถือว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ ?
(เนื่องจากผมไม่คิดว่าพนักงานท่านนั้นตั้งใจจะถามจริง ๆ แต่ออกจะไปในทางเสียดสีผู้บริหารซะมากกว่า ผมก็เลยไม่ไปถามต่อให้เรื่องมันเข้าตัวเอง)
หรือแม้แต่ ผู้บริหารเอง ก็เคยถามผมว่า พนักงานใช้ Internet ขององค์กรเพื่อฟังวิทยุ Online แบบนี้ถือว่าทุจริตหรือไม่ ?
ผมว่ามันเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ทุกคนก็รู้คำตอบ แต่กลับไม่กล้าตอบด้วยตัวเอง ก็น่าคิดนะครับว่าเพราะอะไรกันหนอ ?
เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2560 บางท่านอาจจะเคยได้เห็นข่าวว่า ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศมาฉบับหนึ่งว่าด้วย “มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ” มีเนื้อหาตามภาพด้านล่าง
ซึ่งวัตถุประสงค์คือ “เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
โดยในประกาศข้างต้น มีการกล่าวถึงทั้งเรื่องของการล้างรถส่วนตัวที่ทำงาน และการนำรถทางราชการออกไปใช้ในเรื่องส่วนตัว เช่นเดียวกันกับคำถามจากลูกค้าของผมเอง
ข้อห้ามที่น่าสนใจคือ การห้ามเอาโทรศัพท์มือถือส่วนตัวมาชาร์ตในที่ทำงาน
ซึ่งข้อนี้สร้างกระแสสรรเสริญในโลกออนไลน์อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จนพอหลังปีใหม่มาทาง ปลัด สธ. ท่านจึงออกหนังสือเวียนมายกเลิกประกาศดังกล่าว ตามภาพด้านล่าง
ตามหลักการของ ACFE หรือ Association of Certified Fraud Examiners นั้น ได้มีการกำหนดประเภทของการทุจริตในองค์กรไว้กลุ่มหนึ่งคือ Asset Misappropriation หรือ การยักยอกทรัพย์สิน ซึ่งโดยรวม ๆ จะหมายถึงการนำเอาทรัพย์สินขององค์กรไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และส่วนใหญ่คือการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
Asset Misappropriation มี 2 แบบ หลัก
1. ลักขโมยเงินสด (ซึ่ง รวมทั้งการเบิกค่าใช้จ่ายโดยทุจริต)
2. ลักขโมยสินค้าคงคลัง หรือ ทรัพย์สินอื่น
ดังนั้นถ้าว่ากันโดยหลักวิชาการ กรณีตามประกาศแรกของทาง สธ. ผมถือว่าประกาศนั้นไม่ได้มีอะไรผิด เพราะสิ่งที่ห้ามคือการ “ยักยอกทรัพย์สิน” ขององค์กร หรือการนำเอาทรัพย์สินขององค์กรไปใช้ในทางมิชอบจริง ๆ
แต่ผมคิดว่าที่ทาง สธ. พลาดไป คือดันไปเขียนข้อ 2 ว่า “ห้ามชาร์ตแบตโทรศัพท์มือถือส่วนตัวในที่ทำงาน” แค่นั้นเอง ก็เลยเจอกระแสต่อต้านจากมวลมหาประชาชน
แหม่ … ก็ดันไปแตะอุปกรณ์ในการดำรงชีพของประชาชนในยุค Digital เข้าให้ ใครจะยอมหล่ะครับ เดี๋ยวเกิดส่ง “สวัสดีวันจันทร์” ไม่ได้ คงเหงาแย่
ข้อสังเกตุหนึ่งที่ผมเห็นจากข่าวคือ หลาย ๆ ท่านที่ไม่พอใจประกาศนี้ บอกว่า หมอ พยาบาล ต้องใช้ไลน์ทำงาน …
ด้วยความเคารพ นั่นเป็นการยกเหตุผลด้านเดียวมาบดบังเจตนารมณ์โดยรวมของประกาศฉบับนี้ ซึ่งชุดความคิดลักษณะแบบนี้เราเห็นกันเยอะนะครับในโลกออนไลน์ ลด ๆ กันหน่อยก็ดีนะครับ
ผมก็ไม่แน่ใจว่าหลังจากยกเลิกประกาศดังกล่าวไปแล้ว ทาง สธ. ได้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอะไรต่อหรือไม่ เพราะไม่เห็นข่าวอีก แต่หากเราจะถอดบทเรียนจากกรณีนี้ ผมก็นึก ได้ 3 ข้อ
ข้อที่ 1
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกาศ ดูเหมือนจะนำเอาการทุจริตจาก 2 กลุ่มมาผสมกัน คือการทุจริตประเภท “Conflict of Interest” หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน (ขัดแย้งกัน) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งในกลุ่ม “Corruption” กับ การยักยอกทรัพย์สินแบบต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม “Asset Misappropriation”
ผมอยากให้เรายึดหลักการของ ACFE ไปจะดีกว่า ว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน ไม่อย่างนั้นการทุจริตในองค์กร (ด้วยการใช้ตำแหน่งหน้าที่) ทุกแบบก็จะเป็น Conflict of Interest ได้หมด
เพราะทุกกรณีมันก็นับได้ว่า “ประโยชน์ขององค์กร” ขัดแย้งกับ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ได้ทั้งสิ้น แต่ความจริง Conflict of Interest จะมีกรอบอยู่ที่ผลประโยชน์องค์กรนั้น ไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของ Party อื่น ที่ไม่ใชของผู้กระทำความผิดเองโดยตรง (เช่น เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง)
ถ้าสนใจกลับไปอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Conflict of Interest ได้จาก Post นี้ครับ
ข้อที่ 2
คนเรามองเห็นด้านลบ ได้ง่ายและเร็ว ถึงประกาศจะห้ามอยู่ 6 ข้อที่เกือบทั้งหมดสมควรถูกห้าม แต่เนื่องจากมีเพียงข้อเดียวที่ละเอียดอ่อน ทำให้อีก 5 ข้อเลยโดนยกเลิกไปด้วย
อีกฝั่งคือคนที่ทำงาน ผมก็รู้สึกว่าอาจจะยังไม่หนักแน่นพอ โดนทักโดนโจมตีเข้าหน่อยก็ถอย แทนที่จะประแก้ให้ถูกต้องและเดินหน้าต่อ เรื่องที่ควรจะได้ทำก็ไม่ได้ทำ
แบบนี้คนที่มีพฤติกรรมมิชอบดังกล่าว ก็อาจจะยังหาประโยชน์จากองค์กรต่อไป
ข้อที่ 3
ผู้บริหารองค์กร ควรมองว่าพนักงานทุกคน คือ ผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
หากกังวลเรื่อง Asset misappropriation เช่นกรณีนี้ สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การห้ามทีละอย่างสองอย่าง จนจุกจิกหยุมหยิมซะขนาดนั้น แต่ที่ควรทำ คือการสร้างจิตสำนึกให้พนักงานทุกคนใช้วิจารณญาณได้เองว่า อะไรควร อะไรไม่ควร
มันเหมือน ๆ เรื่อง Theory X / Theory Y หน่ะครับ คือถ้าคุณปฏิบัติเสมือนว่าพนักงานทั้งหมด ปญอ. เค้าก็จะ ปญอ. กับคุณ แต่ถ้าองค์กรให้เกียรติ ให้ความนับถือเค้า เค้าก็จะทำตัวให้สมเกียรตินั้น
ถ้าต้องคอยมาห้ามเป็นเรื่อง ๆ แบบนี้ ต่อไปคงต้อง Update ประกาศให้รวม Smart watch, Drone, Scooter, Power bank … ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
อันที่จริง ทาง ปปช. ท่านก็ได้มีการรณรงค์สร้างแนวคิดในทำนองนี้นะครับ โดยใช้ชื่อประมาณว่า “แก้ทุจริต คิดฐานสอง” คือหากคุณยังแยกแยะการทุจริตไม่เป็น แสดงว่าคุณคิดแบบ Analog (ฐาน 10) ส่วนถ้าแยกแยะได้ คือไม่ทุจริตโดยเด็ดขาด คือคิดแบบ Digital (ฐาน 2)
แต่ผมเชื่อว่า ผลลัพธ์หนึ่งที่ต่อยอดมาจากแนวทางนี้ของ ปปช. ก็คือประกาศจาก สำนักงานปลัด สธ. ตัวต้นเรื่องของ Post นี้แหละครับ ส่วนจะสะท้อนแนวคิดของ ปปช. ได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ผมไม่ก้าวล่วงดีกว่า … ดูผลเอาเอง
อ้างอิง
1. ออกประกาศ
https://www.posttoday.com/social/general/533859
2. ยกเลิกประกาศ
https://www.tnews.co.th/contents/398780
3. จุลสารสำนักงาน ปปช.
https://www.nacc.go.th/images/sansara/Sansara-1_6.pdf
ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th
Email: author[at]antifraud.in.th